ในแนวคิดทั่วไป การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างและทุกระดับมักจะเกี่ยวข้องกับการยอมรับหรือต่อต้านจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสามารถสร้างการต่อต้านแบบลึก (deep resistance) ที่ฝังรากลึกอยู่ในตัวคนและองค์การ และมีผลต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงและความสำเร็จที่จะปรับปรุงองค์การ ต่อประเด็นดังกล่าว (Senge. 1990 อ้างถึงใน โกวิทย์ กังสนันท์. 2554) ให้ข้อสังเกตว่าการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สิ่งที่แอบซ่อนหรือสิ่งลี้ลับ การต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอเมื่อคนรู้สึกว่าบรรทัดฐานเดิมหรือวิธีปฏิบัติที่เคยเป็นอยู่ถูกคุกคาม (threats) โดยเฉพาะ ภายใต้บริบทที่เป็นบรรทัดฐานและแนวปฏิบัติเดิมนี้ผูกติดกับโครงสร้างและความสัมพันธ์เชิงอำนาจอิทธิพลในองค์การ
การต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอาจปรากฏขึ้นในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การมีทัศนคติในทางลบต่อข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงจนถึงการออกมาเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรม Cumming and Worley (2005: 158-59) แบ่งประเภทการต่อต้านในระดับองค์การออกเป็น 1) การต่อต้านเชิงเทคนิค (technical resistance) ซึ่งมักมาจากพื้นฐานของนิสัยของคนที่ชอบทากรอบรูปแบบและขั้นตอนที่ตนเองมีความเคยชิน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงก็จะต่อต้าน 2) การต่อต้านเชิงการเมือง (political resistance) เกิดขึ้นเมื่อการเปลี่ยนแปลงองค์การมีผลกระทบหรือคุกคามต่อกลุ่มร่วมได้เสียประโยชน์ที่ทรงอำนาจอิทธิพล เช่น ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มลูกค้าระดับสูง เป็นต้น เพราะการเปลี่ยนแปลงมีนัยสำคัญเกี่ยวข้องกับการจัดสรรอำนาจและทรัพยากรที่หายาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านงบประมาณ การสนับสนุน และบุคลากรที่มีคุณค่า และ 3) การต่อต้านเชิงวัฒนธรรม (cultural resistance) ซึ่งมักจะอยู่ในรูปของระบบและวิธีการทางานที่ยืนยันความชอบธรรมของสิ่งที่มีอยู่แล้ว (status quo) หรือที่สิ่งที่ส่งเสริมให้มีการคล้อยตามค่านิยม บรรทัดฐาน และข้อสมมุติเดิมๆเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติงาน
ในระดับปัจเจกบุคคล สาเหตุของพฤติกรรมต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ด้านหลักคือ 1) ความหวาดกลัวส่วนบุคคลต่อการเปลี่ยนแปลง (personal fears) 2) ผลกระทบต่อสถานะภาพส่วนตัว (status) 3) หลักการความถูกต้องส่วนตัว (personal virtue) 4) ค่านิยมที่ได้รับการปลูกฝัง (socialized values) และ 5) ความคิด/ความเข้าใจผิดๆ (misconception) ลักษณะรายละเอียดของสาเหตุแต่ละด้าน