ความเสี่ยง (Risk)
เพชรี ขุมทรัพย์ (2549: 257-266) กล่าว ความเสี่ยง (Risk) หมายถึง โอกาสที่จะสูญเสียเงินที่ลงทุน ถ้ามีโอกาสเกิดขึ้นมากผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการจากการลงทุนย่อมสูงขึ้น และได้แบ่งประเภทของความเสี่ยงแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ได้ 4 ประเภท คือ
1. ความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการทำกำไรของบริษัท อาจเป็นเหตุให้นักลงทุนต้องสูญเสียรายได้หรือเงินลงทุน และความเสี่ยงทางธุรกิจซึ่งประกอบไปด้วย
1.1 ความเสี่ยงทางการเงิน (Financial Risk) หมายถึง โอกาสที่นักลงทุนจะเสีย
รายได้และเงินลงทุนหากบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ไม่มีเงินชำระหนี้หรือถึงกับล้มละลาย ความเสี่ยงทางการเงินของธุรกิจผู้ออกหลักทรัพย์จะเพิ่มขึ้นด้วยสาเหตุต่างๆ คือ การกู้ยืมเพิ่มขึ้น ยอดขายของบริษัทเปลี่ยนแปลง ราคาวัตถุดิบที่ซื้อเปลี่ยนแปลง อำนาจการต่อรองของลูกค้าเพิ่มขึ้น สินค้าล้าสมัย มีคู่แข่งเพิ่มขึ้น เงินทุนของบริษัทขาดความคล่องตัว และประสิทธิภาพของผู้บริหารเป็นปัญหาในทางตรงกันข้าม ความเสี่ยงทางการเงินของธุรกิจจะลดลงด้วยสาเหตุต่างๆ คือ ความก้าวหน้าในวิธีการผลิต ความนิยมของผู้บริโภค สามารถควบคุมแหล่งวัตถุดิบ และเงินทุนส่วนใหญ่เป็นหุ้นทุน
1.2 ความเสี่ยงทางบริหาร (Management Risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการบริหารงานของผู้บริหาร เช่น ความผิดพลาดของผู้บริหารและการทุจริตของผู้บริหาร
1.3 ความเสี่ยงทางอุตสาหกรรม (Industry Risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากแรงผลักดันบางอย่างที่ทำให้ผลตอบแทนของธุรกิจทุกแห่งในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน หรือบางอุตสาหกรรมถูกกระทบกระเทือน เช่น การนัดหยุดงาน
2. ความเสี่ยงตลาด (Market Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการสูญเสียในเงินลงทุน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นในตลาดหุ้น การเปลี่ยนแปลงในราคาหุ้นนี้เกิดจากการคาดคะเนของนักลงทุนที่มีต่อความก้าวหน้า (Prospect) ของบริษัทนั้น หรือการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นนั้น ในตลาดหุ้นเป็นไปตามอุปสงค์และอุปทานซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของบริษัท เช่น สงครามที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดมาก่อน ความเจ็บป่วยของผู้บริหารประเทศ การตายของผู้บริหารประเทศ ปีที่มีการเลือกตั้งผู้บริหารประเทศ นโยบายการเมืองของประเทศนั้น ๆ และการเก็งกำไรที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น เป็นต้น
3. ความเสี่ยงในอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในผลตอบแทนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในอัตราดอกเบี้ยทั่วไป อัตราดอกเบี้ยในตลาดระยะยาวจะมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยมีผลทำให้หลักทรัพย์ต่างๆ เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยในตลาดเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นราคาหลักทรัพย์จะลดต่ำลงจะมากหรือน้อยย่อมแล้วแต่ชนิดของหลักทรัพย์ หลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงในลักษณะนี้ได้แก่หลักทรัพย์ที่ให้รายได้แน่นอนตายตัว หรือเรียกว่า Fixed Income Securities ได้แก่ หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น
4. ความเสี่ยงในอำนาจการซื้อ (Purchasing Power Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากอำนาจการซื้อของเงินได้ลดลง แม้ว่าตัวเงินที่ได้รับจากรายได้จะยังคงเดิม ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในอำนาจซื้อก็คือ ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation)
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เผยแพร่ความรู้ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป
ไม่ใช่เพื่อการค้า อนุญาติแบบเดียวกัน
ย้อนกลับ ...