กระบวนการการและทักษะให้คำปรึกษา
อาภา จันทรสุข ได้นำเสนอ กระบวนการการและทักษะในการให้คำปรึกษา โดยรวบรวมจากCormier และ Hackney ซึ่งสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. ขั้นเริ่มต้นการปรึกษาและสร้างสัมพันธภาพ เป้าหมายของขั้นนี้คือ สร้างสัมพันธภาพเพื่อทำงานร่วมกัน ผู้ให้การปรึกษาควรสร้างสัมพันธภาพกับผู้รับการปรึกษาให้ได้เร็วที่สุด โดยทำให้ผู้รับการปรึกษามีการตกลงที่ตรงกันเกี่ยวกับเป้าหมายของการปรึกษา เข้าใจร่วมกันถึงบทบาทของผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษา และสร้างความผูกพันของความรู้สึกไว้วางใจ อาทรห่วงใย มีการสนับสนุนให้มีการวินิจฉัย โดยเสนอให้การวินิจฉัยเป็นขั้นตอนที่ถัดจากการสร้างสัมพันธภาพ การวินิจฉัยช่วยทำความเข้าใจผู้รับการปรึกษาในระดับลึก และบ่งบอกถึงความผิดปกติทางจิตใจที่ต้องเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการกำหนดเป้าหมายและเสนอวิธีจัดการที่เหมาะสมได้
2. ขั้นสำรวจตน เพื่อทำความเข้าใจปัญหา ในขั้นนี้มีจุดประสงค์กระตุ้นเร้าให้ผู้รับการปรึกษาเกิดการประเมินตนเอง เพื่อตระหนักรู้ถึงความรู้สึกต่างๆ ของตนเอง รวมทั้งทัศนคติซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมในปัจจุบัน ภาพลักษณ์ของตนจะเปิดเผยหรือแสดงออกมาใน 3 ลักษณะ ลักษณะแรกเป็นตนที่ถูกลดคุณค่า ผู้รับการปรึกษาจะระบุลักษณะที่ไม่ดี หรือจุดอ่อนของตน ลักษณะที่ 2 คือ ภาพลักษณ์ของตนเองในจินตนาการ เพื่อชดเชยตนในลักษณะแรก และลักษณะที่ 3 ภาพลักษณ์ของตนเองที่เกิดจากสภาวะที่ประสบ เป็นตนที่ค่อนข้างตรงกับความจริง ผู้ให้การปรึกษาตั้งเป้าหมายให้ผู้รับการปรึกษาสำรวจภาพลักษณ์ของตนเองโดย สร้างบรรยากาศให้ผู้รับการปรึกษาได้ระบายเปิดเผย สารภาพโดยแสดงการยอมรับ มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง แสดงความจริงแท้ ใช้ทักษะการฟัง ระมัดระวังท่าทีเมื่อรับฟังเรื่องที่คาดไม่ถึง การเข้าใจหยั่งรู้กับพฤติกรรมตนและประสบการณ์ ผู้ให้การปรึกษาควรใช้ทักษะการเผชิญหน้าอย่างอ่อนโยน โดยการใช้คำถามนำหรือสอบชัก ข้อมูลที่ได้รับจะช่วยให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนเกี่ยวกับผู้รับการปรึกษา นอกจากนี้ยังอาจใช้ทักษะการแปลความ โดยเสนอแนะข้อมูลที่มีความเป็นไปได้
3. ขั้นจัดการปัญหา ผู้ให้การปรึกษาควรตั้งเป้าหมายให้ผู้รับการปรึกษา มีความกระจ่างชัดในความรู้สึกของตน เกิดความเข้าใจอิทธิพลของอดีต นำการหยั่งรู้อดีตไปปฏิบัติให้เกิดการเรียนรู้และมีพฤติกรรมใหม่ โดยเริ่มในห้องให้การปรึกษาและขยายสู่สัมพันธภาพ กับบุคคลอื่น นอกจากนี้ผู้ให้การปรึกษาควรใช้ทักษะการฟัง การสะท้อน การเผชิญหน้า การแปลความ และร่วมกับผู้รับการหยั่งรู้ไปปฏิบัติโดยกำหนดเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงเชิงพฤติกรรม ผู้ให้การปรึกษาต้องมีการประเมินความก้าวหน้าของการหยั่งรู้ด้วย และควรระมัดระวังไม่ให้ผู้รับการปรึกษายุติการปรึกษาหลังเกิดการหยั่งรู้ใหม่ๆ โดยยังมิได้นำไปปฏิบัติในชีวิตจริง
4. ขั้นยุติปัญหา การยุติการปรึกษาแสดงถึงความเป็นอิสระของผู้รับการปรึกษาที่สามารถจัดการกับปัญหาของตนได้สำเร็จ และก้าวต่อไปในชีวิตโดยปราศจากความช่วยเหลือจากผู้ให้การปรึกษา ในขั้นนี้ผู้รับการปรึกษาอาจรู้สึกทั้งเป็นอิสระและมีความวิตกกังวล ที่ต่อไปต้องจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนโดยลำพังเพื่อลดความรู้สึกขัดแย้งและหลีกเลี่ยงการยุติการปรึกษาก่อนเวลาอันควร ผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษาควรร่วมกันตกลงวันเวลาที่จะพบกันเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะนัดหมายเพื่อติดตามความก้าวหน้า เป้าหมายของขั้นยุติการปรึกษาไว้ 3 ประการ คือ 1. เพื่อประเมินความเมินความพร้อมของผู้รับการปรึกษาที่จะยุติกระบวนการปรึกษาและประเมินการเรียนรู้ที่ตกผลึก 2. เพื่อจัดการกับประเด็นความรู้สึกที่ยังหลงเหลืออยู่ 3. เพื่อเพิ่มการพึ่งพิงตนเองและความมั่นใจในความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เผยแพร่ความรู้ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป
ไม่ใช่เพื่อการค้า อนุญาติแบบเดียวกัน
ย้อนกลับ ...