
ความเปลี่ยนแปลงใหญ่วงการอสังหาฯ ไทย
การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นผลมาจาก Developer รายใหญ่ ปรับโครงสร้างองค์กร พร้อมทั้งขยายแนวรบธุรกิจ ด้วยการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ทั้งแนวราบ และแนวสูง ครอบคลุมทั้งตลาดบน กลาง ล่าง เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตมากขึ้น และกระจายความเสี่ยง ไม่กระจุกโฟกัสแต่เฉพาะตลาดใดตลาดหนึ่ง
หลายบริษัทที่เคยโฟกัสอยู่แต่ตลาดบน ก็ขยาย Portfolio มาทำตลาดแมสมากขึ้น ขณะที่บริษัทไหนเคยเน้นตลาดแมส ก็ขยายมาทำตลาดบนมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผู้แข่งขันในตลาดและผู้ประกอบการ เดิมทีตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไทย ประกอบด้วย Developer ทั้งรายใหญ่ กลาง และเล็ก แต่เมื่อปีที่แล้วทั้ง 10 บริษัทใหญ่ เช่น พฤกษา เรียลเอสเตท, แสนสิริ, เอพี ไทยแลนด์, แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, แอลพีเอ็น, ศุภาลัย, เอสซี แอสเสท ถือครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดเป็น New High Record ถึง 56% จากมูลค่ารวม 362,456 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะขยับเป็น 60%
หากแยกเป็นเซ็กเมนต์ ตลาดทาวน์เฮาส์ 9 บริษัทใหญ่ ถือครองส่วนแบ่งตลาด 62% / บ้านเดี่ยว 9 บริษัทใหญ่ ถือครองส่วนแบ่งตลาด 63% / คอนโดมิเนียม 13 บริษัทใหญ่ ถือครองส่วนแบ่งตลาด 60%
สาเหตุที่ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ประเภทที่อยู่อาศัยในไทย ถูก Dominate ด้วยบริษัทใหญ่ เนื่องจากมีปัจจัยเชิงบวกที่เอื้ออำนวยให้สามารถลงทุน Scale โครงการขนาดใหญ่ได้ต่อเนื่อง อย่างโครงสร้างตลาดเงิน ตลาดทุน เช่น การออกหุ้นกู้ ตรงกันข้ามกับผู้ประกอบการขนาดกลาง และเล็ก ที่การหาแหล่งเงินทุนเป็นได้ยากขึ้น อีกทั้ง Project Loan ของธนาคารมีความระมัดระวังมากขึ้น
เมื่อภาพรวมตลาดถูก Dominate โดยยักษ์ใหญ่ ย่อมแสวงหาการเติบโตทั้งด้านรายได้ และกำไร ด้วยการขยายเข้าไปทำตลาดทุกเซ็กเมนต์ ประกอบกับการผนึกกำลังกับพันธมิตรธุรกิจ ทั้งบริษัทในไทยด้วยกันเอง และบริษัทจากต่างประเทศ
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค ปัจจุบันความต้องการในอสังหาริมทรัพย์ เป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และซื้อเพื่อการลงทุนในกลุ่มคนไทย แต่วันนี้มี Demand จากต่างประเทศ เช่น กลุ่มผู้ซื้อชาวจีนที่มาซื้อ Property Sector ในไทย เช่น คอนโดมิเนียม ส่งผลให้ Demand Landscape ในไทยเปลี่ยนแปลงไป
การเปลี่ยนแปลงด้านจุดขาย และรูปแบบการพัฒนาโครงการ ที่ดิน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินในไทยปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในโซน CBD (Central Business District) ใจกลางกรุงเทพฯ ทำให้การพัฒนาที่ดินและโครงการ เป็นรูปแบบสิทธิการเช่ามากขึ้น
ขณะเดียวกันการพัฒนาโครงการของ Developer จะรุกขยายทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ที่เป็นจังหวัดหลัก เช่น ชลบุรี, ระยอง, ขอนแก่น, เชียงใหม่, ภูเก็ต
การเปลี่ยนแปลงด้านอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางปัจจัยบวกที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เติบโต ในเวลาเดียวกันยังต้องเผชิญกับอุปสรรค หรือปัจจัยเสี่ยง นั่นคือ อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ย่อมส่งผลต่อ Demand ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะการปรับดอกเบี้ยทุก 1% จะมีผลต่อ Demand ลดลง 5 8% ทั้งยังทำให้ภาวะหนี้ครัวเรือนของผู้บริโภคระดับกลาง ล่าง ที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่แล้ว จะมีภาระสูงขึ้นจากการปรับอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ สถานการณ์ภาวะหนี้ครัวเรือนในไทย ยังอยู่ในระดับสูง
ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2560 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล คาดว่าจะเติบโตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 5% มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 379,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนโครงการลงทุนด้านคมนาคมของภาครัฐบาล มูลค่า 1,769,922 ล้านบาท และในปีนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่โครงสร้างทางธุรกิจ การแข่งขันขันของผู้ประกอบการ รมถึงรูปแบบการพัฒนาโครงการ คุณประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท-พรีเมียม ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงในวงการอสังหาริมทรัพย์ในไทย
สอดคล้องกับ คุณณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงปัจจัยสำคัญสำหรับปี 2560 ภายใต้นโยบายใหม่ของสหรัฐอเมริกาที่มีประธานาธิบดีคนใหม่ จะมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกทั้งหมด และจะมีผลต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ทั้งในระยะกลางและระยะยาว
มุมมองระยะสั้นสำหรับปีนี้ มี 2 เรื่องสำคัญที่ต้องจับตามอง คือ 1. หนี้ครัวเรือนเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงมาก แต่ยังมีสัดส่วนต่อ GDP ที่สูงอยู่ และ 2. อัตราการปฏิเสธให้สินเชื่อจากธนาคาร (bank rejection) และ housing NPL ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ทั้ง 2 เรื่องเป็นความท้าทายต่อการเติบโตของธุรกิจอสังหาฯ ในปีนี้
อย่างไรก็ตามคาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีนี้จะเติบโตมากกว่า 5% ด้วย GDP ของประเทศไทยยังมีการเติบโตมากกว่า 3% ต่อปี นอกจากนี้กำลังซื้อของกลุ่มที่อยู่อาศัยราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป ยังมีความแข็งแรงอยู่
... อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
www.brandbuffet.in.th
ที่มา : http://www.brandbuffet.in.th
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เผยแพร่ความรู้ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป
ไม่ใช่เพื่อการค้า อนุญาตแบบเดียวกัน