ปัญหาในการทำวิจัย



จากประสบการณ์ทำงานวิจัย รับวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัย รับวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ เป็นที่ปรึกษาในการทำงานวิจัย รับแก้ไขงานวิจัย วิทยานิพนธ์ ปริญญาโท - เอก เราได้พบข้อบกพร่องที่เป็นปัญหาในการทำงานวิจัย ส่งผลให้ผู้วิจัยมือใหม่หลายท่านส่วนใหญ่เกิดปัญหา โดยบทความนี้จะอธิบายปัญหาและข้อบกพร่องในการทำงานวิจัย ดังนี้

1. ชื่อเรื่องการวิจัยไม่ชัดเจน

ชื่อเรื่องงานวิจัยเป็นปัญหาสำคัญที่สุด ส่งผลให้ผู้วิจัยเกิดภาระเครียด เนื่องจากส่วนใหญ่ชื่อเรื่องการวิจัยไม่ชัดเจน และชื่อเรื่องไม่สอดคล้องกับปัญหาการวิจัย (Research Problem) ชื่อเรื่องแคบเกินไป หรือชื่อเรื่องงานวิจัยกว้างมากเกินไปไม่ชัดเจน

ตัวอย่างชื่อเรื่องงานวิจัย

2. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัยไม่ชัดเจน

หลักการเขียนความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัยข้อบกพร่องที่พบบ่อยส่วนใหญ่ จะอธิบายภาพรวมทั่วไปของหัวเรื่องงานวิจัยที่กำลังจะทำ แต่ขาดเหตุผลเพื่อนำมาเขียนสนับสนุน ขยายความชื่อเรื่องงานวิจัยให้ชัดเจน ส่วนใหญ่คณะกรรมการจะคำถามว่า “ เพราะเหตุใด ทำไมจึงทำวิจัยเรื่องนี้ ? ”

ตัวอย่างเช่น ศึกษาการใช้บริการโรงแรมระดับ 3 ดาวของนักท่องเที่ยวชาวจีนในเมือง P จังหวัด PP ผู้วิจัยจำเป็นต้องอธิบายให้ได้ว่า ทำไมถึงทำวิจัยในสถานที่เมือง P จังหวัด PP เกี่ยวข้องอะไรกับโรงแรมระดับ 3 ดาว และมีผลต่อนักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างไร แต่ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัยไม่ได้กล่าว ไม่มีข้อมูลมาสนับสนุนที่ชัดเจน ไม่ได้อธิบายเลยว่า... มีสาเหตุอะไร ทำไมจึงศึกษาการใช้บริการโรงแรมระดับ 3 ดาวของนักท่องเที่ยวชาวจีนในเมือง P จังหวัด PP

3. วัตถุประสงค์กับสมมติฐานไม่สอดคล้องกัน

วัตถุประสงค์การวิจัยเป็นแนวทางกำหนดเป้าหมายที่สามารถวัดผลได้ สำหรับสมมติฐานการวิจัย เป็นการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าสามารถหาข้อค้นพบจากการวิเคราะห์ข้อมูล หลักการเขียนวัตถุประสงค์กับสมมติฐานจะต้องกำหนดไปในทิศทางเดียวกัน

4. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับไม่ถูกต้อง

ผู้วิจัยส่วนใหญ่มักจะนำเอาวัตถุประสงค์การวิจัยมาเขียนอธิบายประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ถือได้ว่าเขียนไม่ถูกต้อง เพราะ หลักการเขียนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ควรจะเขียนว่า ผลการวิจัยที่ได้สามารถนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร หรือเพื่อปรับปรุงพัฒนาที่เป็นประโยชน์อย่างไรมากกว่า เช่น ผลที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้สามารถนำไปพัฒนาคุณภาพการให้บริการโรงแรมระดับ 3 ดาวที่เป็นประโยชน์ต่อนักท่องเที่ยวชาวจีนให้ดีขึ้น และตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวทั่วไปได้มากยิ่งขึ้น

5. กรอบแนวคิดการวิจัยไม่ชัดเจน

การไม่ชัดเจนของกรอบแนวคิดการวิจัย เนื่องจาก ผู้วิจัยค้นคว้าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องไม่มีมากพอ ส่วนใหญ่จะนำเอางานวิจัยของคนอื่นมาใช้โดยไม่ได้ศึกษาเรื่องนั้นดีพอ จึงทำให้กรอบแนวคิดและตัวแปรที่ศึกษาไม่ชัดเจน หรือสลับตัวแปร ตัวอย่างเช่น นำเอาตัวแปรต้นไปไว้เป็นตัวแปรตาม และนำเอาตัวแปรตามไปไว้เป็นตัวแปรต้น

6. การทบทวนเอกสารและงานวิจัยไม่ดีพอ

สาเหตุเกิดจากผู้วิจัยศึกษาเอกสารน้อย ค้นคว้าหาอ่านงานวิจัยที่เกี่ยวข้องน้อยเกินไป ไม่เพียงพอที่จะทำวิจัยในหัวเรื่องดังกล่าวที่กำหนดเอาไว้ ทำให้กำหนดตัวแปรที่ศึกษาผิดพลาด จึงส่งผลต่อการสร้างเครื่องมือเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัย และที่สำคัญผู้วิจัยคัดลอกแบบสอบถามมาจากของท่านอื่นโดยขาดการทบทวนตัวแปรต้น และตัวแปรตาม

7. ขนาดประชากรและตัวอย่างไม่ถูกต้อง

การกำหนดขนาดประชากรและตัวอย่าง ตามหลักระเบียบวิธีการวิจัย เช่น กำหนดขนาดโดยใช้เปอร์เซ็นของจำนวนประชากร กำหนดโดยใช้สูตรคำนวณจากจำนวนประชากรจำนวนจริง หรือกำหนดประชากรที่ศึกษาจากกรณีไม่ทราบจำนวน หรือสามารถกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างด้วยตารางสำเร็จรูป ก็ย่อมทำได้ โดยขนาดตัวอย่างที่ได้ต้องเป็นตัวแทนที่ดีของประชากรสำหรับเก็บรวบรวมข้อมูล ไม่มีการลำเอียง ไม่มีอคติในการเลือกตัวอย่าง


8. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยขาดคุณภาพ

การนำเครื่องมือการวิจัยของท่านอื่นมาใช้ โดยขาดการพิจารณาตัวแปรต้น ตัวแปรตาม ไม่ได้คำนึงถึงทฤษฎีและเนื้อหาของเรื่องที่ทำวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและมีบทบาทอย่างมากในการวิจัย การเลือกใช้เครื่องมือใดนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์และลักษณะพฤติกรรมที่ต้องการจะประเมินผล ที่สำคัญจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การวิจัย และต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือก่อนนำมาใช้ด้วยเช่นกัน

9. การเก็บข้อมูลไม่ถูกต้อง

ถ้าเก็บข้อมูลจากบุคคลที่เป็นตัวแทนที่ดีของประชากรสำหรับเก็บรวบรวมข้อมูล อาจจะใช้วิธีการเก็บไม่เหมาะสม ช่วงเวลาการเก็บข้อมูลไม่เหมาะสม เก็บข้อมูลได้ไม่ครบถ้วน ขาดความสมบูรณ์ หรือมีความลำเอียงในการเก็บข้อมูล ตัวอย่างเช่น ผู้วิจัยทำการแจกแบบสอบถามช่วงเวลาพักเที่ยง 12.00 น. ในทางตรงกันข้าม ท่านคิดให้ดีๆ " ใครจะมาเสียเวลาตอบแบบสอบถามให้ท่าน.... "

10. การวิเคราะห์ข้อมูลไม่ถูกต้อง

การวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัย ผู้วิจัยอาจกำหนดใช้สถิติในการวิเคราะห์ไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ศึกษาการใช้บริการโรงแรมระดับ 3 ดาวของนักท่องเที่ยวชาวจีนในเมือง P จังหวัด PP โดยกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหาความสัมพันธ์ในการใช้บริการโรงแรมระดับ 3 ดาวของนักท่องเที่ยวชาวจีนในเมือง P จังหวัด PP แต่ผู้วิจัยกำหนดการวิเคราะห์ข้อมูลจะทดสอบความแตกต่างของประชากรสองกลุ่มที่มีความเป็นอิสระต่อกันโดยใช้ t-test ถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักการทางสถิติ

11. การนำเสนอข้อมูลหรือผลการวิจัยไม่เหมาะสม

ผลการวิจัยที่ต้องการนำเสนอ อาจนำเสนอด้วยตารางข้อมูล กราฟ แผนภูมิในการนำเสนอที่ขาดความเหมาะสมควรนำเสนอผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ อธิบายข้อค้นพบจากสมมติฐานการวิจัยที่กำหนดเอาไว้ แต่ผู้วิจัยนำเสนอไม่ครอบคลุมตามวัตถุประสงค์ ไม่ครอบคลุมตามสมมติฐานการวิจัยที่กำหนดเอาไว้

12. การอภิปรายผลการวิจัยไม่ชัดเจน

การอภิปรายผลการวิจัย สำคัญที่สุด คือ เนื้อหาบทที่ 2 และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องต้องแน่น ครบถ้วนมากที่สุด จากประสบการณ์ทำงานวิจัย เป็นที่ปรึกษาในการทำงานวิจัย วิทยานิพนธ์ ปริญญาโท - เอกได้พบข้อบกพร่องที่เป็นปัญหาในการทำงานวิจัยเกี่ยวกับการอภิปรายผลการวิจัย มากที่สุด โดยไม่นำเนื้อหาในบทที่ 2 ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการอภิปรายให้เป็นเหตุเป็นผล เพื่อนำมาเขียนสนับสนุนข้อค้นพบที่ได้รับให้ชัดเจน

13. การเขียนข้อเสนอแนะการวิจัยไม่ชัดเจน

การเขียนข้อเสนอแนะการวิจัย เป็นลักษณะข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้ในรูปแบบการปฎิบัติ และเชิงวิชาการ ผู้วิจัยเสนอแนะในสิ่งที่ตนเองเห็นว่าดีคิดเขียนออกมาโดยไม่เกี่ยวข้องกับผลการวิจัยที่ได้ โดยขาดการเสนอแนะจากข้อค้นพบผลการวิจัยที่วิเคราะห์ข้อมูลแล้ว

14. การเขียนเอกสารอ้างอิงไม่ถูกต้อง

การให้เกียรติ การให้เครดิต ผู้คิดค้นทฤษฎี เจ้าของงานวิจัย เจ้าของเครื่องมืองานวิจัย ผู้คิดค้นสูตรคำนวนประชากร การเขียนอ้างอิงแทรกในเนื้อหาและเขียนบรรณานุกรมไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ไม่อ้างอิงแทรกผู้คิดค้นทฤษฎี เจ้าของงานวิจัยในเนื้อหาที่ได้นำหรือคัดลอกของคนอื่นมาใช้ เขียนบรรณานุกรมไม่ครบ ควรเขียนระบุแหล่งที่มาของข้อมูลที่ผู้วิจัยอ้างอิงมาให้ถูกต้อง ตามหลักวิชาการ

15. การเขียนรายงานไม่ถูกต้อง

การวิจัยเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ การเขียนรายงานไม่ถูกต้องตามแบบฟอร์มที่หน่วยงานกำหนดไว้ ไม่ถูกต้องตามหลักการเขียนรายงานการวิจัย ผู้วิจัยเขียนรายงานใช้ภาษาพูดมากกว่าภาษาวิชาการ ใช้คำฟุ่มเฟือย เยิ่นเย้อ หรือไม่กระชับมากเกินไป ประโยคฟุ่มเฟือยเป็นลักษณะประโยคที่ใช้คําเกินความจําเป็น หรือ ซํ้า ความ จึงสามารถตัดทิ้งได้โดยไม่เสียความ

สรุปได้ว่า จากที่กล่าวมานี้ เป็นปัญหาในการทำวิจัยและข้อบกพร่องที่พบ จะช่วยให้ผู้วิจัยมือใหม่ได้ตระหนักรู้ถึงปัญหาและข้อบกพร่องในการทำวิจัย จะได้หาแนวทางแก้ไขก่อนที่จะเกิดปัญหา เพื่อให้งานวิจัยที่ทำมีคุณภาพ สามารถเผยแพร่ผลงานวิจัยได้อย่างภาคภูมิใจ

ผู้วิจัยมือใหม่ที่ขาดทักษะ ไม่มีความรู้ในการทำวิจัย จึงควรศึกษาระเบียบวิธีวิจัยให้ดีก่อนที่จะลงมือทำวิจัย เนื่องจากผู้วิจัยมือใหม่มีทักษะน้อย ทำให้งานวิจัยที่กำลังทำ ล้าช้ากว่ากำหนด ดังนั้น ควรปรึกษาผู้มีประสบการณ์ในขณะทำวิจัย จะช่วยให้การทำวิจัยสำเร็จตามเป้าหมาย เสร็จทันเวลา ท้ายที่สุด ปรึกษาผู้มีประสบการณ์ทำงานวิจัยส่งผลให้เข้าใจการทำงานวิจัยมากขึ้น

ที่มาภาพ : https://qualtrics.com